วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

ความสำคัญวันสงกรานต์ และคุณค่าวันสงกรานต

ความสำคัญวันสงกรานต์ และคุณค่าวันสงกรานต์

ความสำคัญวันสงกรานต์ และคุณค่าวันสงกรานต์

          ในวันสงกรานต์ เราจะเห็นได้ว่า สงกรานต์เป็นประเพณีที่งดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความเคารพซึ่งกันและกัน เป็นประเพณีที่ให้ความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ในสังคม โดยใช้น้ำเป็นสื่อในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกัน มิใช่เทศกาลแห่งน้ำอย่างที่หน่วยงานของรัฐบางแห่งกำลังดำเนินการเพื่อสร้างจุดขาย สร้างรายได้เข้าประเทศ จนสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่คนไทยด้วยกันเอง ซึ่งกำลังจะห่างไกลและหลุดลอยไปจากรากเหง้าเดิมของประเพณีสงกรานต์กันไปทุกที

          
ประเพณีที่ถือปฏิบัติและสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เช่น ประเพณีสงกรานต์นี้ จึงย่อมมีความหมายและมีคุณค่า และความสำคัญต่อผู้ปฏิบัติ ชุมชนและสังคมเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ

          วันสงกรานต์เป็นวันแห่งความรัก ความผูกพันในครอบครัวอย่างแท้จริ สมัยก่อนพ่อแม่จะเตรียมเสื้อผ้าใหม่พร้อมเครื่องประดับให้ลูกหลานไปทำบุญ ลูกหลานก็จะเตรียมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มให้ผู้ใหญ่ได้สวมใส่หลังการรดน้ำขอพร ปัจจุบันเมื่อถึงวันสงกรานต์ทุกคนจะหาโอกาสกลับบ้านไปหาพ่อแม่รดน้ำขอพร เพื่อเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นปีใหม่และเป็นกำลังใจกันและกันในการดำรงชีวิตอยู่ต่อไป

          วันสงกรานต์เป็นวันแห่งการแสดงความกตัญญู โดยการปรนนิบัติต่อพ่อแม่และผู้มีพระคุณที่มีชีวิตอยู่ และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

          วันสงกรานต์ เป็นวันที่ก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน เช่น การได้พบปะสังสรรค์ร่วมกันทำบุญ และการละเล่นสนุกสนานรื่นเริงในยามบ่ายหลังจากการทำบุญ โดยการเล่นรดน้ำในหมู่เพื่อนฝูงและคนรู้จักและการละเล่นตามประเพณีท้องถิ่น

          สงกรานต์เป็นประเพณีที่ก่อให้เกิดความเอื้ออาทรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะในวันนี้ทุกคนจะช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือน สิ่งของเครื่องใช้ทุกอย่างให้สะอาดหมดจดเพื่อจะได้ต้อนรับปีใหม่ด้วยความแจ่มใส เบิกบาน นอกจากนี้ยังควรช่วยกันทำความสะอาดวัดวาอาราม ที่สาธารณะ และอาคารสถานที่ของหน่วยงานต่างๆ ด้วย

           วันสงกรานต์ เป็นวันทำบุญครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของพุทธศาสนิกชน โดยการทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระ ฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรม และสรงน้ำพระศรัทธาในการทำบุญให้ทาน ซึ่งถือเป็นการเกื้อกูลสูงสุดของมนุษยชาติ และการถือศีลปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นเหตุแห่งความเจริญรุ่งเรืองของชีวิต และสามารถสืบทอดพระพุทธศาสนามาได้จนถึงปัจจุบัน

กิจกรรมและข้อควรปฏิบัติในวันสงกรานต์

กิจกรรมและข้อควรปฏิบัติในวันสงกรานต์

กิจกรรมและข้อควรปฏิบัติในวันสงกรานต์



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
การเตรียมงาน 
          วันตรุษและวันสงกรานต์เป็นเทศกาลสำคัญที่คนไทยยังถือว่าวันตรุษคือวันสิ้นปี วันสงกรานต์คือวันขึ้นปีใหม่ดังกล่าว ดังนั้นจึงต้องตระเตรียมงานกันเป็นการใหญ่ จนมีคนที่พูดกันติดปากว่า "ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่" สิ่งที่ตระเตรียมกันนั้นจึงเป็นเรื่องที่จะต้องกระทำกันเป็นพิเศษตามลำดับ ดังนี้... 

           1. เครื่องนุ่งห่ม เพื่อใส่ในโอกาสไปทำบุญที่วัด ตลอดจนเครื่องประดับตกแต่งร่างกายอย่างค่อนข้างจะพิถีพิถัน 

           2. ของทำบุญ เมื่อใกล้จะถึงวันงานก็เตรียมของทำบุญเลี้ยงพระ และที่เป็นพิเศษของที่จะทำขนมพิเศษ 2 อย่าง ได้แก่ ข้าวเหนียวแดงในวันตรุษ และขนมกวน หรือกะละแมในวันสงกรานต์ นอกจากจะทำขึ้นเพื่อทำบุญแล้ว ยังแลกเปลี่ยนแจกกันในหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อแสดงอัธยาศัยไมตรีในวันสำคัญ 

           3. การทำความสะอาดบ้านเรือนที่อาศัยตลอดจนบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้ดูเรียบร้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บูฃาพระและที่เก็บอัฐิบรรพบุรุษ แม้เสื้อผ้าที่ใช้สอยก็ต้องซักฟอกให้สะอาดหมดจดโดยถือว่ากำจัดสิ่งสกปรกให้สิ้นไปพร้อมกับปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ ด้วยความบริสุทธิ์ผุดผ่อง 

           4. สถานที่ทำบุญ วัดเป็นสถานที่ทำบุญสวดมนต์เลี้ยงพระ และทำต่อเนื่องกันหลายวัน นอกจากจะทำความสะอาดกุฎีที่อาศัยแล้วยังต้องทำความสะอาดหอสวดมนต์ โบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญ ตลอดจนลานวัด เพราะต้องใช้ทำกิจกรรมหลายอย่าง ได้แก่ การทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา สรงน้ำพระ ก่อพระเจดีย์ทราย และงานรื่นเริงต่างๆ ด้วย
ก่อกองทราย วันสงกรานต์

ก่อกองทราย วันสงกรานต์


การทำบุญ

          การทำบุญในวันสงกรานต์มีทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ 

           1. พิธีหลวง พระราชพิธีสงกรานต์

          วันที่ 15 เมษายน ในเวลาเช้า 10.30 น. พระสงฆ์ที่รับอาราธนามาเจริญพระพุทธมนต์ที่พระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปสำคัญต่างๆ ที่หอพระสุราลัยพิมาน แล้วเสด็จหอพระบรมอัฐิที่หอพระธาตุมณเฑียร สรงน้ำพระ พระบรมอัฐิและพระอัฐิ ถวายสักการะพระสยามเทวาธิราชที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เสด็จออกพระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัย ทรงจุดธูปเทียนบุฃาพระรัตนตรัย ทรงศีล พระสงฆ์จำนวน 67 รูป เท่าจำนวนพระบรมอัฐิ และพระอัฐิที่อาราธนาจากวัดที่เกี่ยวข้อง กับพระบรมอัฐิและพระอัฐิ เจริญพระพุทธมนต์ ฉันภัตตาหารเพล

          เสร็จแล้วอัญเชิญพระบรมอัฐิ จากหอพระธาตุมณเฑียรเป็นกระบวนแห่ มีประโคมสังข์ แตร กลองชนะ ตั้งแต่เวลาเชิญออก จนกระทั่งถึงบนราชบัลลังก์นพปฏลมหาเศวตฉัตร ในพระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัย ทรงจุดธูปเทียนราชสักการะพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ของพระบรมอัฐิ ทรงจุดธูปเทียน ถวายสักการะพระบรมอัฐิและพระอัฐิ ทรงทอดผ้าคู่ (ถือผ้าขาว 2 ผืน นุ่งผืน 1 ห่มผืน 1) มีขวดน้ำหอม 1 ขวด พระสงฆ์นั่งสดับปกรณ์ตามลำดับวัดประจำพระบรมอัฐิ

          เวลา 16.30 น. เสด็จสรงน้ำพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระพุทธสัมพรรณี พระชัยหลังช้าง พระพุทธรูปฉลองพระองค์รัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 เสด็จสรงน้ำพระคันธราษฎร์ สรงน้ำ พระโพธิ์ พระนิโครธ พระพุทธเจดีย์ทอง พระไตรปิฎกฉบับทองทึบ พระนาคที่วิหารขาวสดับปกรณ์ พระบรมอัฐิกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และพระอัฐิเจ้านายต้นราชสกุลต่างๆ 
          เปิดปราสาทพระเทพบิดรวันที 13, 14, 15, 16 เมษายน เพื่อให้ประชาชนถวายสักการะพระบรมรูปบูรพมหากษัตริยาธิราช

          เมื่อก่อนการบำเพ็ญพระราชกุศลในพระบรมมหาราชวัง มี 4 วัน คือวันที่ 13-16 เมษายน ปัจจุบันมีเฉพาะวันที่ 15 เมษายน วันเดียว ซึ่งในเช้าวันที่ 15 เมษายน โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานนิมนต์พระ 150 รูป เข้าไปรับอาหารบิณฑบาตรทีในพระบรมมหาราชวัง

          เวลา 10.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิตไปยังพระมหามณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯ พระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญที่หอพระสุลาลัยพิมาน ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ แล้วเสด็จฯ ไปทรงจุดธูปเทียนบูชาพระสยามเทวาธิราชที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เสด็จฯ ไปยังหอพระธาตุมณเฑียรทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะและสรงน้ำพระบรมอัฐิ พระอัฐิ แล้วเสด็จออกพระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัยทางพระทวารเทวราชมเหศวร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 71 รูป เจริญพระพุทธมนต์การพระราชพิธีสงกรานต์ จบแล้วทรงประเคนภัตตาหาร

          เมื่อพระสงฆ์รับพระราชทานฉันเสร็จเจ้าพนักงานเชิญพระบรมอัฐิและพระอัฐิออกประดิษฐานบนพระราชบัลลังก์ ภายใต้นพปฏลมหาเศวตฉัตรและบนที่นั่งกงภายใต้ฉัตรขาวลายทอง 5 ชั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระอัฐิ แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดผ้าคู่ พระสงฆ์สดับปกรณ์ พระบรมอัฐิและพระอัฐิ แล้วถวายอนุโมทนาถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เสด็จพระราชดำเนินประทับรถยนต์พระที่นั่ง ที่พระที่นั่งทวารเทเวศรรักษาเสด็จพระราชดำเนินกลับ 
          เวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าพนักงานกราบบังคมทูลรายงานเครื่องราชสักการะที่ทรงพระราชอุทิศ พระราชทานให้กระทรวงมหาดไทยเชิญไปถวายเป็นพุทธบูชาเจดียสถานต่างๆ แล้วเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถ ทรงพระสุหร่ายสรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรพระสัมพุทธพรรณี พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงจุดธูปเทียนถวายนมัสการ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปสรงน้ำปูชนียวัตถุตามเจดียสถานในพระอารามนี้ แล้วเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่หอพระนาก ทรงจุดธูปเทียนถวายสักการะพระอัฐิ 5 รูป สดับปกรณ์แล้วทรงทอดผ้าพระสงฆ์อีก 50 รูป สดับปกรณ์พระอัฐิพระราชวงศ์ พระสงฆ์ถวายอนูโมทนา ถวายดิเรก เป็นเสด็จการ 

           2. พิธีราษฎร์

          การทำบุญในวันสงกรานต์อาจจะทำการตักบาตรทำบุญได้ 2 แห่ง คือ ที่วัดหรือในบริเวณงานที่จัดไว้แล้ว วิธีตักบาตร ใช้วิธีเรียงแถวและนิมนต์พระเดินตามลำดับ โดยชายตักบาตรด้วยข้าว หญิงตักบาตรด้วยของคาวหวาน ถ้าเต็มบาตรก็ถ่ายใส่ภาชนะอื่น และนิมนต์ท่านรับจนทั่ว เสร็จแล้วอาจนิมนต์ท่านฉัน ณ สถานที่จัดงาน หรือให้ท่านนำไปฉันที่วัดก็ได้

          ในเวลาตักบาตรพระสงฆ์จะสวดถวายพร คือ พาหุง พอเสร็จก็ช่วยกันยกอาหารคาวหวานไปถวายพระ ขณะพระฉันจะมีการอ่านประกาศสงกรานต์กันในตอนนี้ บางคนก็อาจจะอยู่ฟังอนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธี

          การก่อเจดีย์ทราย จะทำในวันใดวันหนึ่งของวันที่ 13-15 เมษายนก็ได้ ผู้ทำบุญจะช่วยกันขนทรายมาก่อเป็นเจดีย์ขนาดต่างๆ ในบริเวณวัด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ให้ใช้ก่อสร้างหรือถมพื้นที่เป็นเรื่องที่ถือว่าได้บุญและสนุกสนาน แต่ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องทำทุกวัด

          การปล่อยนกปล่อยปลา เป็นการทำบุญเพื่อแสดงความกรุณาต่อสัตว์ นิยมทำในวันสงกรานต์และไม่จำกัดว่าจะทำในวัดเท่านั้น

          การสรงน้ำพระ มีทั้งสรงน้ำพระพุทธรูปและภิกษุ สามเณร เพื่อความเป็นศิริมงคลในโอกาสขึ้นปีใหม่อันเป็นเวลาที่อากาศร้อน

          การรดน้ำผู้ใหญ่ เป็นเรื่องของการแสดงคารวะต่อผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ผู้ร่วมพิธีควรนำผ้า 1 สำรับ คือ ผ้านุ่ง 1 ผืน ผ้าห่ม 1 ผืน ไปมอบให้ท่านพร้อมกับดอกไม้ธูปเทียน การรดน้ำผู้ใหญ่ดังกล่าวมานี้มักจะรดหรืออาบท่านจริงๆ จึงต้องมีผ้าไปมอบให้ ปัจจุบันบางแห่งรดเฉพาะที่ฝ่ามือ โดยจะเอาน้ำหอมเจือในน้ำด้วย แต่ก็ยังคงมีผ้านุ่งห่ม 1 สำรับ และดอกไม้ธูปเทียนไปแสดงความคารวะ และขอพรท่านก็จะให้ศีลให้พรให้มีความสุขปีใหม่ คือตั้งแต่วันสงกรานต์เป็นต้นไป

          การทำบุญอัฐิ เป็นเรื่องที่นิยมทำแบบนิมนต์พระ ชักบังสุกุลอัฐิของญาติที่ล่วงลับไปแล้ว แล้วอุทิศส่วนกุศลให้ โดยนิมนต์พระไปยังสถานที่เก็บหรือบรรจุอัฐิ หรือถ้าไม่มีอัฐิจะเขียนชื่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็ได้ เมื่อบังสุกุลแล้วก็เผากระดาษแผ่นนั้นเสีย เหมือนเผาศพ การทำบุญอัฐิจะทำในวันไหนก็ได้สุดแต่จะนัดหมายกัน การรื่นเริงจัดขึ้นเพื่อเชิ่อมความสามัคคีในหมู่คณะ เป็นการอนุรักษ์ประเพณีต่างๆ ในท้องถิ่นไว้ด้วย

          การสาดน้ำ เป็นการสนุกสนานรื่นเริงอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของสงกรานต์ คือ สาดน้ำกันโดยมากจะเริ่มต้นในวันสรงน้ำพระ แต่บางแห่งพอเริ่มสงกรานต์ ก็เริ่มสาดน้ำกันทีเดียว ส่วนใหญ่แล้วใช้น้ำสะอาดมีน้ำอบน้ำหอม หรือแป้งหอมผสมบ้างก็ได้ และไม่ถือเป็นเรื่องเสียหาย

          การแห่นางแมว บางแห่งอาจมีการแห่นางแมวเพื่อขอฝนด้วย ซึ่งเป็นเรื่องสนุกสนานรื่นเริงเหมือนกัน แต่ก็หวังผลในทางเกษตรกรรมด้วย กล่าวคือถ้าเกิดฝนแล้งก็แห่นางแมวกันในช่วงวันทำบุญสงกรานต์ เช่นเดียวกัน

          อย่างไรก็ตามในแต่ละท้องถิ่นย่อมมีค่านิยมและธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ที่แตกต่างกันออกไป ก็สมควรให้ปฏิบัติไปตามนั้น เพื่อเป็นการเคารพภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ได้กลั่นกรองเลือกสรรแล้วว่าเหมาะสมกับท้องถิ่นของตนเอง ดังนั้นการจะเปลี่ยนแปลงใดๆ จึงขึ้นกับวิจารณญาณของเจ้าของวัฒนธรรมนั้นๆ โดยตรงที่จะเลือกรับหรือไม่รับสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม รวมทั้งสิ่งใหม่ๆ ที่แทรกเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง

สิ่งที่ได้จากการทำบุญสงกรานต์

           1. เป็นการแสดงความเคารพบูชาต่อสิ่งที่ตนเคารพ ต่อบิดามารดา และผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ

           2. เป็นการชำระจิตใจ และร่างกายให้สะอาด

           3. เป็นการรักษาประเพณีมาแต่เดิม

           4. เป็นการสนุกสนานรื่นเริงในรอบปี และพักจากงานประจำชั่วคราว เพื่อจะไปพักผ่อนหย่อนใจ

           5. เป็นการเตือนสติว่ามนุษย์นั้นผ่านไป 1 ปีแล้ว และในรอบปีที่ผ่านมาเราได้ทำอะไรบ้างและควรจะทำอะไรต่อไปในปีที่กำลังจะมาถึง

           6. เป็นการเตรียมตัวบวช ถ้าเป็นผู้ชายโดยเอาระยะเวลานี้บวชกัน เพราะหลังสงกรานต์ต้องเตรียมตัวทำนาแล้ว

           7. เป็นการทำความสะอาดพระ โต๊ะบูชา บ้านเรือน ทั้งในและนอกบ้าน

คำทำนายเกี่ยวกับสงกรานต์

คำทำนายเกี่ยวกับสงกรานต์

คำทำนายเกี่ยวกับสงกรานต์


วันสงกรานต์


          สังคมไทยอยู่คู่กับความเชื่อและหลักโหราศาสตร์มาช้านาน ไม่เว้น วันสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ไทย ที่นอกจากจะเป็นวันดีมีการรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่ และมีการเล่นสาดน้ำคลายร้อนกันอย่างสนุกสนานแล้ว ในแต่ละปี ก็จะมีคำทำนายทางโหราศาสตร์เกี่ยวกับ เทศกาลสงกรานต์  ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน แตกต่างกันไปด้วย ซึ่งตามตำราพรหมชาติฉบับหลวง บอกเอาไว้ดังนี้...

 13 เมษายน วันมหาสงกรานต์  

              หากตรงกับวันอาทิตย์ ปีนั้นไร่นาเรือกสวน เผือกมัน มิสู้แพงแล

              หากตรงกับวันจันทร์ จะแพ้เสนาบดี ท้าวพระยาและนางพระยาทั้งหลาย

              หากตรงกับวันอังคารและวันเสาร์ จะเกิดอันตรายกลางเมือง จะเกิดเพลิงและโจรผู้ร้าย และจะเจ็บไข้นักแล

              หากตรงกับวันพุธ ท้าวพระยาจะได้เครื่องบรรณาการมาแต่ต่างเมือง แต่จะแพ้ลูกอ่อนนักแล

              หากตรงกับวันพฤหัสบดี จะแพ้ข้าไท พระสงฆ์ราชาคณะจะได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจกันแล

              หากตรงกับวันศุกร์ ข้าวน้ำ ลูกหมากรากไม้ทั้งหลายจะอุดม แต่จะแพ้เด็ก ฝนและพายุชุม จะเจ็บตากันมากนักแล

 14 เมษายน เรียกว่า วันเน่า หรือวันเนา

              ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันเนา ข้าวจะตายฝอย จะได้ยินเสียงคนต่างภาษา ท้าวพระยาจะร้อนใจนักแล

              ถ้าวันจันทร์เป็นวันเนา เกลือจะแพง นางพระยาจะร้อนใจ มักจะเกิดความไข้ต่างๆ

              ถ้าวันอังคารเป็นวันเนา หมากพลู ข้าวปลาจะแพง จะแพ้อำมาตย์มนตรีทั้งปวง

              ถ้าวันพุธเป็นวันเนา ข้าวจะแพง คนทั้งหลายจะได้รับความทุกข์ร้อน แม่หม้ายจะพลัดที่อยู่

              ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันเนา ลูกไม้จะแพง ตระกูลทั้งหลายจะร้อนใจนักแล

              ถ้าวันศุกร์เป็นวันเนา ข้าวจะแพง แร้งกาจะตายห่า สัตว์ในป่าจะเกิดอันตราย

              ถ้าวันเสาร์เป็นวันเนา ข้าวปลาจะแพง จะเกิดเพลิงกลางใจเมือง ขุนนางจะต้องโทษ ข้าวจะตายฝอย น้ำจะน้อยกว่าทุกปี สมณชีพราหมณ์จะร้อนใจนัก ผักปลาจะแพงแลฯ 
15 เมษายน เรียกว่า วันพญาวัน หรือวันเถลิงศก

              ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันเถลิงศก พระมหากษัตริย์จะรุ่งเรืองด้วยพระเดชานุภาพ จะมีชัยชนะแก่ศัตรูทั่วทิศาทั้งปวงแล

              ถ้าวันจันทร์เป็นวันเถลิงศก พระราชเทวี และหมู่นางสนม ราชบริพาร จะประกอบไปด้วยสุขและสมบัติทั้งปวง

              ถ้าวันอังคารเป็นวันเถลิงศก อำมาตย์มนตรีทั้งปวงจะอยู่เย็นเป็นสุข แม้จะต่อยุทธ์ด้วยปัจจามิตร ณ ใดๆ ก็จะมีชัยชนะทุกเมื่อแล

              ถ้าวันพุธเป็นวันเถลิงศก ราชบัณฑิต ปุโรหิตโหราจารย์ จะมีสุขสำราญเป็นอันมาก

              ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันเถลิงศก สมณะพราหมณาจารย์จะปฏิบัติชอบด้วยธรรมวินัยอันประเสริฐแล

              ถ้าวันศุกร์เป็นวันเถลิงศก พ่อค้าพานิชทั้งหลาย อันไปค้าขายในประเทศต่าง ๆ จะประกอบไปด้วยพัสดุเงินทอง และมีความสุขเป็นอันมากแล

              ถ้าวันเสาร์เป็นวันเถลิงศก หมู่ทแกล้วทหารทั้งปวง จะประกอบไปด้วยความสุข และวิชาการต่างๆ แม้จะกระทำยุทธ์ด้วยข้าศึก ณ ทิศใด ๆ ก็จะมีชัยชนะทุกเมื่อแล

             และนี่ก็คือ คำทำนายเกี่ยวกับวันสงกรานต์  13-14-15 เมษายน ตามความเชื่อโบราณ ที่นำมาฝากกัน ส่วนคำทำนายปีนี้จะดีหรือไม่อย่างไร แต่ก็ขออวยพรให้ทุก ๆ คนมีความสุขในวันสงกรานต์  วันขึ้นปีใหม่ไทยนี้กันถ้วนหน้านะคะ



วันสงกรานต์ไทยในแต่ละภาค

วันสงกรานต์ไทยในแต่ละภาค

วันสงกรานต์ไทยในแต่ละภาค

สงกรานต์
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ททท.

          วันสงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณ และเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่งดงาม ฝังลึกอยู่ในชีวิตของคน โดยคำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสฤต แปลว่า ผ่านหรือเคลื่อนย้าย แต่ความหมายที่คนไทยทั่วไปใช้ หมายเฉพาะวันและเวลา ที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษในเดือนเมษายนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะถือว่า วันสงกรานต์  คือวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี แต่จริง ๆ แล้วตามแต่ละภาค แต่ละจังหวัด หรือแต่ละพื้นที่ กลับมีการประเพณีวันสงกรานต์ไม่พร้อม และไม่เหมือนกัน ดังนี้...
สงกรานต์

 วันสงกรานต์ภาคกลาง

          สงกรานต์ภาคกลาง เริ่มขึ้นในวันที่ 13 เมษายน เป็นวัน "มหาสงกรานต์" วันที่ 14 เป็น "วันกลาง" หรือ "วันเนา" วันที่ 15 เป็นวัน "วันเถลิงศก" ทั้ง 3 วันประชาชนจะประกอบพิธีทางศาสนา มีการทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระ การขนทรายเข้าวัดก่อพระเจดีย์ทราย

          ขณะเดียวกัน ประเพณีสงกรานต์ในภาคกลาง มีความหลากหลายแตกต่างกัน แต่ถ้าจะพูดถึงประเพณีสงกรานต์ของภาคกลาง หลาย ๆ คนคงนึกถึง สงกรานต์ที่พระประแดง เพราะเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายมอญ ที่ยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นถิ่นไว้อย่างครบครัน เพราะพวกเขาถือว่าเป็นเวลาที่คนมอญ จะต้องแสดงความกตัญญต่อบรรพบุรุษผู้มีพระคุณ

          ซึ่งประเพณีสงกรานต์ของชาวมอญพระประแดง หรือชาวมอญปากลัด จะตรงกับวันสงกรานต์ของชาวไทย นั่นคือวันที่ 13 – 14 – 15 เมษายนของทุกปี โดยรุ่งเช้าของวันที่ 13 เมษยาน ทุกครัวเรือนจะรวมตัวกันที่บ้านงาน เพื่อเตรียมข้าวปลาอาหารไว้สำหรับจัดเป็น "ประเพณีส่งข้าวสงกรานต์"จากนั้นตอนสาย ๆ จะไปร่วมทำบุญกันที่วัด เพราะถือว่าวันที่ 13 เมษายน เป็น "วันตรุษ" คือวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และตอนบ่ายจะรวมตัวกันเพื่อเตรียมแห่ "หงส์ – ธงตะขาบ" กันตามประเพณี ตกค่ำก็จะเป็นการเล่นสะบ้าของพวกหนุ่มสาวชาวมอญ ตลอดจนในวันที่ 14 - 15 เมษายน จะเป็นประเพณีทำบุญให้ทานกันตามธรรมเนียม เหมือนกับชาวพุทธโดยทั่ว ๆ ไป

          รวมไปถึง "ประเพณีก่อพระทรายวันไหล บางแสน" ซึ่งเป็นงานประเพณีที่ชาวตำบลแสนสุข จังหวัดชลบุรี ได้ถือปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยโบราณ เดิมเรียกว่า "งานทำบุญวันไหล" การที่ประชุมในหมู่บ้านต่าง ๆ ได้มาทำบุญร่วมกันเนื่องในวันสงกรานต์ หรือวันปีใหม่ของไทย โดยการนิมนต์พระทุกวัดที่อยู่ในเขตตำบลแสนสุข มาประกอบพิธีสงฆ์ หลังจากนั้นก็เป็นกิจกรรมก่อพระเจดีย์ทราย เล่นสาดน้ำ การละเล่นไทย และกีฬาพื้นบ้าน

          "ประเพณีสงกรานต์อุ้มสาวลงน้ำ" ณ เกาะสีชัง และเกาะขามใหญ่ จังหวัดชลบุรี ภายในงานมีกิจกรรมเช่น พิธีทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ พิธีกองข้าวบวงสรวง รดน้ำดำหัว การก่อพระเจดีย์ทราย การละเล่นพื้นบ้าน แข่งขันเรือกระทะ เรือชักกะเย่อ มวยตับจาก ปาลูกดอก แข่งขันตะกร้อลอดบ่วง การแสดงดนตรี และประเพณีอุ้มสาวลงน้ำ

          "ประเพณีกองข้าว" อำเภอศรีราชา เป็นประเพณีอันเก่าแก่ของชาวเมืองชลบุรี ซึ่งปัจจุบันอำเภอศรีราชายังคงรักษาประเพณีนี้อยู่ โดยจัดให้มีขึ้นเป็นประจำ ในวันที่ 19 - 21 เมษายนของทุกปี สถานที่จัดอยู่บริเวณหน้าสำนักงานเทศบาลตำบลศรีราชา และที่บริเวณเกาะลอยศรีราชา โดยกิจกรรมของงานจะประกอบไปด้วย การจัดขบวนแห่ที่นำโดยกลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่และหน่วยงานต่าง ๆ ที่แต่งกายด้วยชุดไทยประจำบ้านเข้าร่วมขบวน พิธีบวงสรวงและเซ่นสังเวยผี การสาธิตประเพณีกองข้าว การละเล่นพื้นบ้าน การสาธิตและจำหน่าย ขนมพื้นบ้าน และอาหารพื้นเมือง

          "เทศกาลวันไหล" คือวันทำบุญขึ้นปีใหม่ของชาวทะเลในช่วงวันสงกรานต์ โดยภาคตะวันออกนั้น จะแตกต่างจากที่อื่นคือ จะเริ่มเล่นสาดน้ำกันประมาณวันที่ 16 หรือ 17-18-19 เมษายน โดยเรียกกันว่า "วันไหล" โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีรดน้ำดำหัว ขบวนแห่วันไหล การสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานของประชาชน และ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยชาวต่างประเทศ การทำบุญตักบาตร สรงน้ำ ก่อพระเจดีย์ทราย เล่นสาดน้ำ และกีฬาพื้นบ้าน
สงกรานต์

 สงกรานต์ภาคเหนือ

          สงกรานต์ล้านนา หรือ "ประเพณีปี๋ใหม่เมือง" อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เริ่มตั้งแต่ "วันสังขารล่อง" (13 เมษายน) หมายความว่า วันนี้สิ้นสุดศักราชเก่า ในวันนี้จะได้ยินเสียงยิงปืนจุดประทัดกันแต่เช้าตรู่ โดยการยิงปืนและการจุดประทัด มีความเชื่อถือกันแต่โบราณว่า เป็นการขับไล่เสนียดจัญไรต่าง ๆ ให้ล่องไปพร้อมกับสังขาร จากนั้น ชาวบ้านจะกวาดขยะมูลฝอยตามลานบ้าน ไปกองไว้แล้วจุดไฟเผา และทำความสะอาดปัดกวาดบ้านเรือนให้เรียบร้อย เก็บเสื้อผ้า มุ้ง หมอน ผ้าปูที่นอนไปซัก ส่วนอุปกรณ์ที่ซักไม่ได้ก็นำออกไปผึ่งแดด เสร็จแล้วก็ชำระร่างกายสระผม (ดำหัว) ให้สะอาด และมีการแห่พระพุทธรูปสำคัญประจำเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคล

          ถัดมาคือ "วันเนา" หรือ "วันเน่า" (14 เมษายน) วันที่ห้ามใครด่าทอว่าร้าย เพราะจะทำให้โชคร้ายไปตลอดทั้งปี โดยในวันนี้ตามประเพณี ถือว่าเป็นวันสำคัญและเป็นมงคลแก่ชีวิต จะได้ประสบแต่ความดีงามตลอดปี จะไม่ทำอะไรที่ไม่เป็นมงคล เช่น ด่า ทอ หรือทะเลาะวิวาทกัน ตอนเช้าต่างก็จะไปตลาด เพื่อจะจัดซื้ออาหารและข้าวของมาทำบุญ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันดา" (คือวันสุขดิบทางใต้) ตอนบ่ายจะมีการขนทรายเข้าวัด โดยขนจากแม่น้ำปิง แล้วนำไปยังวัดที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อก่อเจดีย์ทรายตามลานวัด เจดีย์ที่ก่อขึ้นจะตบแต่งด้วยธงทิวสีต่าง ๆ ธงสีนี้ชาวพื้นเมืองเรียกว่า "ตุง" ทำด้วยกระดาษสี ตัดเป็นรูปสามเหลี่ยมชายธงและรูปร่างต่าง ๆ ติดปลายไม้ อีกชนิดหนึ่งตัดเป็นรูปลวดลายต่าง ๆ ติดปลายไม้เรียกว่า "ช่อ" 

          การทาน หรือถวายตุง หรือช่อนี้ ถือกันว่าเมื่อตาย (สำหรับผู้ที่มีบาปหนักถึงตกนรก) จะสามารถพ้นจากขุมนรกได้ด้วยช่อและตุงนี้ ส่วนการขนทรายเข้าวัด ถือว่าเป็นการทดแทนที่เมื่อตนเดินผ่านหรือเข้าออกวัด ทรายในวัดย่อมจะติดเท้าออกไปนอกวัด ซึ่งเป็นบาปกรรม ทางวัดจะได้ใช้ทรายเพื่อประโยชน์ในการสร้าง หรือถมลานวัด เจดีย์ทรายนี้จะทำพิธีถวายทานในวันรุ่งขึ้น และจะมีการปล่อยนกปล่อยปลาอีกด้วย ทั้งนี้ ในวันขนทราย จะมีการเล่นรดน้ำกัน และเป็นการเล่นอย่างสนุกสนานที่สุดวันหนึ่ง ผู้หญิงจะแต่งกายพื้นเมือง จะนุ่งผ้าซิ่นสวมเสื้อแขนยาว ทัดดอกเอื้องที่มวยผม ส่วนผู้ชายจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดพื้นเมือง คล้องคอด้วยดอกมะลิ ถือขันหรือโอคนละใบ ใส่น้ำเพื่อรดกันอย่างสนุกสนาน และขนทรายเข้าวัดด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสทุก ๆ คน

          วันที่สาม "วันพญาวัน" หรือ "วันเถลิงศก" (15 เมษายน) วันนี้ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าทำบุญตักบาตรเข้าวัดฟังธรรม ก่อนจะไป "รดน้ำดำหัว" ขอขมาญาติผู้ใหญ่ในช่วงบ่าย ซึ่งเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวเมืองเหนือ คือ การนำลูกหลานญาติพี่น้องไปขอขมาลาโทษ (สูมาคาระวะ) ต่อผู้ใหญ่ในตอนเย็น

          วันที่สี่ "วันปากปี" (16 เมษายน) ชาวบ้านจะพากันไปรดน้ำเจ้าอาวาสตามวัดต่าง ๆ เพื่อขอขมาคารวะ โดยตั้งแต่เช้าตรู่ ชาวบ้านจะจัดอาหารหวานคาวใส่สำรับไปถวายพระที่วัด เป็นการถวายภัตตาหารหรือที่เรียกกันว่า ทานขันข้าว เป็นการถวายทานเพื่ออุทิศส่วนกุศลถึงญาติพี่น้องที่ล่วงลับ รวมทั้งถวายเจดีย์ทราย ถวายจ่อตุง เพราะถือว่าเป็นอานิสงส์ และวันที่ 5 "วันปากเดือน" (17 เมษายน) เป็นวันที่ชาวบ้านส่งเคราะห์ต่าง ๆ ออกไปจากตัว เพื่อปิดฉากประเพณีสงกรานต์ล้านนา

          ทั้งนี้ ประเพณีดำหัว สำหรับชาวล้านนาหมายถึง "การสระผม" เพื่อเป็นการชำระสะสางเอาสิ่งอันเป็นอัปมงคลในชีวิตให้วิปลาสไป โดยการใช้น้ำขมิ้นส้มป่อยเป็นเครื่องชำระ ซึ่งการดำหัวของชาวล้านนามี 3 ลักษณะ... 

          ลักษณะที่ 1 ดำหัวตนเอง คือ ทำพิธีเสกน้ำส้มป่อยด้วยคำที่เป็นศิริมงคล "สัพพทุกขา สัพพภย สัพพโรคา วินาสันตุ" แล้วลูบหัวด้วยน้ำส้มป่อย

          ลักษณะที่ 2 ดำหัวผู้อาวุโสที่เราเคารพนับถือ เช่น บิดา มารดา ครูบาอาจารย์ พระเถระ ผู้นำฯ

          ลักษณะที่ 3 ดำหัวผู้น้อย เช่น ภรรยา บุตร หลาน คือการใช้น้ำส้มป่อยลูบศรีษะภรรยา บุตร หลาน
สงกรานต์

 สงกรานต์ภาคอีสาน

          ประเพณีสงกรานต์ภาคอีสาน นิยมจัดกันอย่างเรียบง่าย แต่ว่ามากไปด้วยความอบอุ่น โดยคนอีสานจะเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า "บุญเดือนห้า" หรือ "ตรุษสงกรานต์และจะถือฤกษ์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 โดยจะมีพิธีการทำบุญตักบาตร ทำบุญสรงน้ำพระ และรดน้ำผู้ใหญ่ ด้วยการนำเอาน้ำอบ น้ำหอมไปสรงพระพุทธรูป พระภิกษุสงฆ์ มูลเหตุที่ทำเพื่อขอให้มีความเป็นอยู่ร่มเย็นเป็นสุข จะปรารถนาสิ่งใดขอให้ได้สมหวัง เช่น ขอน้ำขอฝน ขอให้ตกต้องตามฤดูกาล และให้ข้าว น้ำ ปลา อุดมสมบูรณ์ และในเดือนนี้ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวอีสาน โดยถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันเริ่มต้นทำบุญ

          ซึ่งการทำ "บุญเดือนห้า" จะเริ่มเวลาประมาณ 15.00 น. โดยพระสงฆ์จะตีกลองใบใหญ่ในวัด เพื่อเป็นสัญญาณบอกให้ญาติโยมในหมู่บ้าน ออกมารวมกันที่วัดและนำพระพุทธรูปลงมาประดิษฐานไว้ในศาลาโรงธรรม จากนั้นพระสงฆ์และชาวบ้านก็จะมาร่วมกันจัดน้ำอบ น้ำหอม ธูป เทียน ดอกไม้ มาพร้อมกัน แล้วกล่าวคำบูชาอธิษฐาน ขอให้ฟ้าฝนตก ในบ้านเมือง อยู่ร่มเย็น แล้วก็สรงน้ำอบ น้ำหอมให้แก่พระพุทธรูปทั้งหมดที่มีอยู่ในวัด จากนั้นก็สรงน้ำให้แก่พระสงฆ์ อันเป็นเคารพสักการะบูชาของชาวบ้าน ซึ่งถือว่าเป็นการเคารพท่านจะได้ให้ศีลให้พร ให้เรามีความสุข ความเจริญ และเป็นการต่ออายุของเรา

          และหลังจากกลับมาถึงบ้าน จะมีการสรงน้ำให้คนเฒ่า คนแก่ ซึ่งเป็น ปู่ ย่า ตา ยาย หรือครูบา อาจารย์ ซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่อันควรในการเคารพสักการะของเรา เอาน้ำอบ น้ำหอม ไปสรงท่าน ซึ่งเป็นการสักการะนับคือถึงบุญคุณของท่าน ต่อมาก็จะเล่นสาดน้ำกันเป็นที่สนุกสนาน ขณะที่ตอนเย็นจะมีการก่อพระทราย โดยชาวบ้านจะนำทรายจากที่ใดที่หนึ่ง นำมาก่อพระทรายที่ลานวัด จะมีการประดับประดาพระเจดีย์ทราย ซึ่งในวันนี้ชาวบ้านที่มาทำบุญ จะมีการปล่อยสัตว์เพื่อเป็นบุญกุศล

          ทั้งนี้ ณ อำเภอเมือง และ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม จะมีงานสงกรานต์ผูกสายสิญจน์เชื่อมโยงพระธาตุสองแผ่นดิน หรือสงกรานต์นครพนม รื่นรมย์ บุญปีใหม่ไทย-ลาว โดยในงานจะมีการฮดสรง หรือสรงน้ำพระธาตุประจำวันเกิดทั้ง 7 แห่ง ที่มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยด้วย
สงกรานต์

 สงกรานต์ภาคใต้

          สงกรานต์ภาคใต้ ตามความเชื่อของประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิมที่ภาคใต้แล้ว สงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดา ผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง พวกเขาจึงถือเอาวันแรกของสงกรานต์ (13 เมษายน) เป็น "วันส่งเจ้าเมืองเก่า" หรือ "วันเจ้าเมืองเก่า" โดยเชื่อกันว่าในวันนี้ เจ้าเมืองหรือเทพยดาประจำปีผู้ทำหน้าที่รักษาดวงชะตาของบ้านเมือง จำเป็นต้องละทิ้งบ้านเมืองที่ตนรักษาไปชุมนุมกันบนสวรรค์ ในวันนี้ชาวบ้านจึงทำความสะอาดบ้านเรือน เครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับและร่างกาย บางทีก็ทำพิธีสะเดาะเคราะห์ โดยทำพิธีลอยเคราะห์ลงในแม่น้ำ เพื่อฝากเคราะห์กรรมซึ่งตนประสบไปกับเจ้าเมืองเก่า และอธิษฐานขอให้ประสบโชคดีตลอดปีใหม่

          ส่วนวันที่ 14 เมษายน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "วันว่าง" จะไปทำบุญตักบาตรที่วัด และสรงน้ำพระพุทธรูป ทั้งนี้ ที่เรียกว่า "วันว่าง" เพราะเชื่อกันว่าวันนี้เจ้าเมืองก็ยังสถิตอยู่บนสวรรค์ ในเมืองจึงไม่มีเจ้าเมืองประจำอยู่ กิจการงานอาชีพทุกอย่างจึงต้องหยุด เพราะเกรงว่าหากประกอบกิจการจะก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น เนื่องจากไม่มีเจ้าเมืองคุ้มครองรักษา สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ จึงถูกเก็บไว้ มิได้นำมาใช้เป็นการชั่วคราวประมาณสามวัน ประชาชนส่วนใหญ่พากันไปทำบุญ เมื่อทำบุญแล้วก็นำอาหารและเครื่องบูชา ไปเคารพผู้อาวุโส และพระสงฆ์ที่เคารพ โดยถือโอกาสขอพรรดน้ำ เพื่อแสดงออกถึงความเคารพความกตัญญูด้วย

          จากนั้นเมื่อทำบุญที่วัดและรดน้ำผู้อาวุโสแล้ว ต่างก็มาชุมนุมกัน โดยในการนี้ได้จัดให้มีการละเล่นต่าง ๆ อย่างสนุกสนาน ซึ่งมหรสพและการละเล่นที่นิยมกันมากคือ มโนห์รา, หนังตะลุง, มอญซ่อนผ้า, อุบลูกไก่, ชักเยิ่อ, สะบ้า, จระเข้ฟากหาง (หรือบางแห่งเรียกว่าฟาดทิง), ยับสาก, เตย, ปิดตา, ลักซ่อน, วัวชนและเชื้อยาหงส์ ฯลฯ โดยการละเล่นทั้งหลายนี้ร่วมเรียกว่า "เล่นว่าง"

          และวันสุดท้ายเป็นวัน "เจ้าเมืองใหม่" หรือ "วันรับเจ้าเมืองใหม่" (15 เมษายน) เชื่อว่าวันนี้เจ้าเมือง ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้คุ้มครองเมืองต่าง ๆ อันอาจจะไม่ใช่เมืองที่ตนเคยประจำอยู่แต่เดิมในปีที่แล้ว จะลงมาประจำเมือง ซึ่งตนต้องรับหน้าที่คุ้มครองตลอดปีใหม่ ชาวเมืองจึงเตรียมการต้อนรับเทวดาเจ้าเมืองคนใหม่ด้วยความยินดี โดยในวันนี้ผู้คนก็จะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ เพื่อนำอาหาไปถวายพระที่วัด จากนั้นก็ไปรดน้ำผู้อาวุโสที่ยังตกค้างไม่ได้ไปรดน้ำใน "วันว่าง" สำหรับในบางตระกูลที่มีวงศาคณาญาติมากมาย ก็จะจัดพิธีเบญจาในวันนี้ด้วย

          "พิธีเบญจา" หรือ "พิธีบิญจา" เป็นประเพณีรดน้ำผู้อาวุโส  โดยจัดโรงพิธีแบบจตุรมุข (คือมีมุขสี่ด้านตรงกลางมียอดแหลม) ตั้งแท่นกลางโรงพิธี ครั้นถึงเวลารดน้ำก็เชิญผู้อาวุโสนั่งบนแท่น ลูกหลานก็เข้ามารดน้ำพระพุทธมนต์ที่ผสมกับเครื่องหอมหลายชนิด ขณะเดียวกันพระสงฆ์ก็จะสวดชยันโตให้พรไปด้วย รดน้ำแล้วประพรมเครื่องหอม และเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้แก่ผู้อาวุโส เป็นเสร็จพิธีขึ้นเบญจา 

          อย่างไรก็ตาม หากปีใดเป็นปีที่มีเดือนแปด 2 ครั้ง ให้ถือว่าวันว่าง (วันเนา) มีสองวัน ดังนั้น วันที่ 13 เมษายน จึงเป็นวันมหาสงกรานต์หรือวันส่งเจ้าเมืองเก่า วันที่ 14 - 15 เมษายน เป็นวันว่าง และวันที่ 16  เมษายน เป็นวันเถลิงศกหรือวันรับเจ้าเมืองใหม่

          ทั้งนี้ ณ สวนศรีธรรมาโศกราช สนามหน้าเมือง หอพระอิศวร จังหวัดนครศรีธรรมราช จะมี"สงกรานต์นางดาน" หรือ "เทศกาลมหาสงกรานต์เมืองนครศรีธรรมราช" จัดขึ้นทุกปี สำหรับกิจกรรมภายในเทศกาลสงกรานต์เมืองนครนี้ จะมีมหกรรมขนมพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง กิจกรรมนั่งรถชมเมือง เล่าเรื่องลิกอร์ นั่งสามล้มโบราณชมเมืองเก่า พิธีพุทธาภิเษกน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก 6 แหล่ง จตุคามรุ่นสรงน้ำ 50 เป็นต้น



คำขวัญวันสงกรานต์

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ใกล้เข้ามาแล้ว สำหรับ "วันสงกรานต์" ประเพณีปีใหม่ของไทยที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ที่ยังคงความงดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน และความอบอุ่น มาจนถึงทุกวันนี้ 

          ซึ่งในวันสงกรานต์นี้เอง ที่เป็นวันที่สมาชิกของครอบครัวจะกลับมารวมตัวกัน เพื่อมากราบขอพรจากญาติผู้ใหญ่ จึงทำให้วันนี้เปรียบเสมือนเป็นวันครอบครัว และนอกจากนี้ ยังมีประเพณีที่เกิดขึ้นควบคู่กับวันสงกรานต์อีกอย่างหนึ่ง คือ การเล่นน้ำสงกรานต์ เพื่อความสนุกสนานและคลายร้อน 
          และเมื่อปี 2552 ได้เกิดวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ การตั้งคำขวัญเนื่องในวันสงกรานต์ เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของวันสงกรานต์ และการสืบสานประเพณีอย่างถูกต้องเหมาะสม  ทั้งยังเป็นการส่งสารอวยพรแก่ประชาชนอีกด้วย ซึ่งคำขวัญวันสงกรานต์ที่มาผ่าน มีดังนี้

          คำขวัญวันสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ.2552 คือ "สงกรานต์สมานสามัคคี สืบทอดประเพณี ทุกชีวีปลอดภัย" โดย นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

          คำขวัญวันสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ.2553 คือ "สงกรานต์สร้างสรรค์ ยึดมั่นประเพณี ปลอดภัยทุกชีวี สามัคคีทั่วไทย" โดย นายพรเทพ ประดิษฐ์ชัยกุล ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดคำขวัญ จาก คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
          สำหรับปีนี้ เราอาจต้องมารอลุ้นกันว่า จะมีคำขวัญวันสงกรานต์หรือไม่ และหากมีจะเป็นคำขวัญที่ให้ข้อคิดอะไรแก่ประชาชนบ้าง

สงกรานต์ถนนข้าวสาร Khao San Songkran Festival


เล่นสงกรานต์ถนนข้าวสาร
เมื่อถึงเดือนเมษายน เทศกาลหนึ่งที่หลายคนรอคอยก็คือ เทศกาลวันสงกรานต์……….ใครหนอ
ช่างคิดจริงๆ ให้มีการสาดน้ำกันในเดือนนี้  ก็มันเป็นหน้าร้อน อากาศแสนจะร้อน อบอ้าว ได้สาดน้ำ
ใส่กันมันก็ทำให้ชุ่มชื่นใจ คลายร้อนไปได้นั่นแหละ สนุกดีด้วย ... อ่านต่อ